วัตถุประสงค์หลัก
 
  1. ส่งเสริมความสัมพันธ์และความสามัคคีระหว่างสมาชิก
  2. ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นระหว่างสมาชิก
  3. ให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ระหว่างสมาชิก
  4. ส่งเสริมการศึกษาและการกุศลรวมทั้งงานสาธารณประโยชน์
  5. ร่วมมือกับสถาบันอื่นๆที่มีวัตถุประสงค์ทำนองเดียวกัน
  6. แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสมาคมต่างๆ ในต่างประเทศ ที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกัน 
Objectives

      1. To enhance  relationship and unity of members.
      2. To promote information and knowledge exchange among members and public.
      3. To provide assistance among members.
      4. To promote education, charity, and public services.
      5. To cooperate with other organizations with the same objectives without political involvement
      6. To exchange concepts with other foreign associations with the same objectives.
 

                                                                                   กฎและข้อบังคับ
                                                                                         ของ
                               สมาคมศิษย์เก่าศูนย์วัฒนธรรมเอเซียและทุนฝึกอบรมเทคนิคโพ้นทะเล (ประเทศไทย)
                                                        ฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่ เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2563
                                                    .................................................................................

 

หมวดที่ 1

ข้อบังคับทั่วไป
 
ข้อที่ 1   ชื่อของสมาคม
สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมศิษย์เก่าศูนย์วัฒนธรรมเอเซียและทุนฝึกอบรมเทคนิคโพ้นทะเล (ประเทศไทย) ใช้ชื่อย่อว่า “สวอท” เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษ ว่า ABK & AOTS ALUMNI ASSOCIATION (THAILAND)
 

ข้อที่ 2   สำนักงานของสมาคม

            สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ ณ ชั้น 12เอ อาคารไอทีเอฟ สีลมพาเลส
160/179-182 ถนน สีลม แขวงสุรวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500
 

ข้อที่ 3 เครื่องหมายสมาคม

            เครื่องหมายของสมาคมเป็นรูปอักษรโรมัน A ทับบนเฟืองจักร 21 ซี่ ภายในอักษร A มีสระเอ 3 ตัว ประกอบกันเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า และบนเฟืองจักรมีคำว่า  ABK & AOTS


ข้อ 4 คำว่า “สมาคม” ในข้อบังคับนี้ให้หมายถึง “สมาคมศิษย์เก่าศูนย์วัฒนธรรมเอเซียและทุนฝึกอบรมเทคนิคโพ้นทะเล (ประเทศไทย)
 
                                                
 
 
                                                                                             หมวดที่ 2

วัตถุประสงค์
ข้อที่ 5   วัตถุประสงค์ของสมาคม

            5.1  เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความสามัคคีระหว่างสมาชิก
            5.2  เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
            5.3  ให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ  ระหว่างสมาชิกด้วยกัน
            5.4  เพื่อส่งเสริมการศึกษา การกุศล และงานสาธารณประโยชน์
            5.5  ให้ความร่วมมือกับสถาบันอื่น ๆ ที่มีวัตถุประสงค์ทำนองเดียวกันทั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับ
                  การเมือง
            5.6  แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสมาคมต่าง ๆ ในต่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกัน
 
หมวดที่ 3
สมาชิกและสมาชิกภาพ
 
ข้อที่  6   ประเภทของสมาชิก  สมาชิกของสมาคมแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
            6.1 สมาชิกสามัญได้แก่ บุคคลซึ่งเคยไปศึกษาหรือดูงานในประเทศญี่ปุ่น โดยผ่าน
                 The Association for Overseas Technical Scholarship (AOTS) หรือในเครือ
                 ASIA BUNKA KAIKAN หรือทุน ABK DOSOKAI แห่งประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว หรือ
                 ผู้ที่ได้ผ่านการอบรมสัมมนาหลักสูตรที่จัดและสนับสนุนด้านงบประมาณจาก AOTS
                 หรือ ผู้ที่ผ่านการอบรมสัมมนาหลักสูตรที่จัดโดยสมาคมศิษย์เก่า

           6.2 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลซึ่งคณะกรรมการบริหาร ได้พิจารณาแล้วเห็นสมควรเชิญเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ โดยมติเอกฉันท์
           6.3 สมาชิกองค์กร  ได้แก่หน่วยงานที่เป็นนิติบุคคลที่เคยส่งบุคลากรเข้าร่วมอบรมหลักสูตรตามข้อ 6.1 หรือเป็นผู้สนับสนุนกิจกรรม 

ข้อที่  7   การสมัครเข้าเป็นสมาชิก

            ผู้สมัครเป็นสมาชิกจะต้องยื่นความจำนงต่อนายทะเบียนตามแบบพิมพ์ที่สมาคมได้กำหนดไว้
 

ข้อที่  8   การพิจารณาคำขอสมัครเป็นสมาชิก

            ให้นายทะเบียนนำใบสมัครเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารครั้งแรกหลังจากได้รับใบสมัครแล้ว และเมื่อคณะกรรมการบริหารมีมติให้รับผู้ใดเข้าเป็นสมาชิกแล้ว ให้นายทะเบียน

            มีหนังสือแจ้งให้ผู้สมัครทราบโดยไม่ชักช้า

 
ข้อที่  9   ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคม


        9.1 สมาชิกสามัญเก็บค่าสมาชิกตลอดชีพ 1,000 บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
        9.2 สมาชิกกิตติมศักดิ์ไม่ต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคม
        9.3 สมาชิกองค์กรต้องเสียค่าบำรุงสมาคมรายปี ปีละ 2,000 บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 

ข้อที่ 10  วันเริ่มสมาชิกภาพ

            สมาชิกภาพเริ่มตั้งแต่วันที่ผู้สมัครซึ่งได้รับอนุมัติแล้วตามข้อ 8 ได้ชำระค่าลงทะเบียนและ
            ค่าบำรุงเรียบร้อยแล้ว
 
ข้อที่ 11  ทะเบียนสมาชิก
            ให้นายทะเบียนจัดทำทะเบียนสมาชิกไว้ที่สำนักงานของสมาคม โดยมีรายการตามที่กฎหมาย
            กำหนดไว้
 

ข้อที่ 12  การขาดจากสมาชิกภาพ

            สมาชิกย่อมสิ้นสุดสมาชิกภาพลงด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

           12.1 เสียชีวิต
           12.2 ลาออกโดยแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อนายทะเบียนและได้ชำระหนี้สินที่ค้างชำระต่อสมาคมเรียบร้อยแล้ว
           12.3 เมื่อคณะกรรมการบริหารมีมติให้ออก โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของกรรมการที่เข้าประชุมด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไป นี้
  1. กระทำการใด ๆ ที่ทำให้สมาคมเสื่อมเสียชื่อเสียง
  2. ละเมิดข้อบังคับของสมาคมอย่างร้ายแรง
  3. เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
  4. เป็นบุคคลล้มละลาย                                                                                                                                                                                            12.4 เมื่อที่ประชุมมีมติให้ออก                                                                                                                                                                          12.5 สมาชิกองค์กรนั้น หมดสภาพการเป็นนิติบุคคล
 
หมวดที่ 4

สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

 

ข้อที่ 13  สิทธิของสมาชิก

        13.1 มีสิทธิ์เข้าร่วมในกิจกรรมทุกประเภทของสมาคมและรับผลประโยชน์ทุกประการตามที่สมาคมเสนอ
        13.2 มีสิทธิ์ใช้เครื่องหมายของสมาคมได้
        13.3 มีสิทธิ์เสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อสมาคมหรือคณะกรรมการบริหารได้
        13.4 มีสิทธิ์ขอตรวจกิจการและทรัพย์สินของสมาคมได้ โดยยื่นคำขอนั้นต่อคณะกรรมการบริหารเป็นลายลักษณ์อักษร
        13.5 มีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมอภิปรายแสดงความคิดเห็นซักถามกรรมการ เสนอญัตติในการประชุมสามัญประจำปี  หรือในที่ประชุมใหญ่วิสามัญ
        13.6 สมาชิกสามัญเท่านั้นมีสิทธ์ในการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีหรือในการประชุมใหญ่วิสามัญ
        13.7 มีสิทธิ์เลือกตั้งและรับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารของสมาคมหรือรับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ของสมาคม           
        13.8 สมาชิกองค์กร มีสิทธิใช้สิทธิจำนวน 1 สิทธิ
 
 

ข้อที่ 14  หน้าที่ของสมาชิก

        14.1 ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ มติที่ประชุมใหญ่  และมติของคณะกรรมการบริหารของสมาคมโดยเคร่งครัด
        14.2 ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมของสมาคม
        14.3 ดำรงรักษาเกียรติและผลประโยชน์ของสมาคม
        14.4 ชำระค่าบำรุงให้แก่สมาคมตามกำหนด 


หมวดที่ 5

คณะกรรมการบริหารของสมาคม

 

ข้อที่ 15  คณะกรรมการบริหาร

       15.1 คณะกรรมการบริหารประกอบด้วย นายก อุปนายก เลขาธิการ เหรัญญิก ปฏิคม นายทะเบียน และกรรมการอื่น ๆ รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 19 คน แต่ไม่ต่ำกว่า 13 คน
       15.2 คณะกรรมการบริหารดำรงอยู่ในตำแหน่งวาระละ 2 ปี 

ข้อที่ 16  การเลือกตั้ง

       16.1 ให้ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีเลือกนายกก่อน จากนั้นจึงทำการเลือกกรรมการอื่นๆ อีก 12  คน
       16.2 ให้นายกแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร
       16.3 ให้นายกกำหนดตำแหน่งหน้าที่ของกรรมการต่าง ๆ ตามความเหมาะสมและแจ้งให้สมาชิกทราบภายใน 30  วันนับจากวันที่เลือกตั้ง
 

ข้อที่ 17  คุณสมบัติของกรรมการบริหาร

        17.1 ต้องเป็นคนไทยที่มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
        17.2 ต้องเป็นสมาชิกสามัญ
        17.3 ไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
        17.4 ไม่เป็นโรคติดต่อที่สังคมรังเกียจ
        17.5 ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกสมาคม  จะต้องเป็นกรรมการบริหารสมาคมมาไม่น้อยกว่า 1 วาระ 

ข้อที่ 18  วิธีการลงสมัครเลือกตั้งตำแหน่งนายกสมาคม

        18.1 ผู้สมัครเป็นนายกสมาคม ต้องมีสมาชิก ลงชื่อรับรองไม่น้อยกว่า 10 คน
        18.2 ผู้สมัครเป็นนายกสมาคมต้องกรอกและส่งใบสมัครตามแบบฟอร์มที่สมาคมกำหนดพร้อมใบแจ้งรายชื่อของสมาชิกผู้รับรอง (ตัวบรรจงและลายเซ็น) ให้เลขาธิการสมาคม  ณ ที่ทำการสมาคม ก่อนวันเลือกตั้ง อย่างน้อย  30  วัน
        18.3 เลขาธิการสมาคม จะจัดส่งสำเนาใบสมัครของผู้ลงเลือกตั้งทุกท่านไปให้สมาชิกเพื่อพิจารณาพร้อมทั้งจดหมายเชิญร่วมประชุมใหญ่ประจำปี
        18.4 ในกรณีที่ไม่มีผู้สมัครเป็นนายกสมาคมตามข้อ 18.2 ให้สมาชิกที่มาประชุมในวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี  เสนอชื่อผู้สมัครเป็นนายกสมาคมต่อที่ประชุมใหญ่  โดยสมาชิกที่มาประชุมรับรองไม่น้อยกว่า  10  คน  และผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อต้องมีคุณสมบัติตามข้อ 17 และต้องอยู่ในที่ประชุมใหญ่ 
        18.5 ในกรณีที่ไม่มีผู้เสนอชื่อผู้สมัครเป็นนายกตามข้อ 18.4 ให้นายกสมาคมผู้ครบวาระรักษาการ นายกสมาคมต่อ  โดยเลือกนายกสมาคมใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับจากวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี
       
ข้อที่ 19  การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการบริหาร


        19.1 ครบกำหนดออกตามวาระ
        19.2 ลาออกโดยคณะกรรมการบริหารมีมติอนุมัติแล้ว
        19.3 ขาดคุณสมบัติที่ระบุไว้ในข้อ  17  และขาดสมาชิกภาพตามข้อ 12 

ข้อที่ 20  กรณีที่ตำแหน่งว่างลงก่อนกำหนดออกตามวาระ

            ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการว่างลงก่อนถึงกำหนดออกตามวาระให้นายกแต่งตั้งผู้ที่เห็นสมควร
            ดำรงตำแหน่งนั้นแทนได้จนครบกำหนดเวลาของผู้ที่ตนแทน
 

ข้อที่ 21  อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร

        21.1 จัดดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของสมาคม
        21.2 วางระเบียบในการปฏิบัติงานของสมาคมได้  แต่ต้องไม่ขัดกับข้อบังคับของสมาคม
        21.3 จัดให้มีการประชุมกรรมการอย่างน้อยปีละ 6 ครั้ง
        21.4 มีอำนาจว่าจ้าง  แต่งตั้ง  ถอดถอนอนุกรรมการ ที่ปรึกษา และเจ้าหน้าที่ทั้งปวง เพื่อให้การดำเนินงานของสมาคมเป็นไปโดยเรียบร้อย 

ข้อที่ 22  องค์ประชุมของคณะกรรมการบริหาร

            ต้องมีกรรมการประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะนับว่าครบองค์ประชุม
 
ข้อที่ 23  มติของการประชุมคณะกรรมการบริหาร
มติของที่ประชุมให้ถือเอาเสียงข้างมาก  ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานที่ประชุมเป็นผู้ออกเสียงชี้ขาด
 

ข้อที่ 24  ประธานในที่ประชุม

ให้นายกสมาคมเป็นประธาน หากนายกไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ว่ากรณีใดๆ ให้อุปนายกเป็นประธานที่ประชุมแทน  ในกรณีที่อุปนายกไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ที่ประชุมคณะกรรมการเลือกกรรมการบริหารคนใดคนหนึ่งเป็นประธานที่ประชุม เฉพาะการประชุมในคราวนั้นได้
 
 
 
 
 
 
 
หมวดที่ 6

การประชุมใหญ่

 

ข้อที่ 25  กำหนดการประชุมใหญ่

      25.1 ให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี  ปีละครั้ง  ภายในเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคมของทุกปี
      25.2 ถ้ามีความจำเป็นด้วยเหตุอันควร  คณะกรรมการบริหารอาจเรียกประชุมใหญ่วิสามัญก็ได้ หรือสมาชิกเข้าชื่อกันขอให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ โดยเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 50 คน แสดงความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อเลขาธิการ ให้คณะกรรมการบริหารนัดประชุมใหญ่วิสามัญภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับคำร้องขอ
      25.3 ในกรณีเรียกประชุมให้เลขาธิการเป็นผู้ออกหนังสือเรียกประชุมแจ้งไปยังสมาชิกและติดประกาศไว้ที่สำนักงานของสมาคมและด้วยวิธีอื่นใดเพื่อให้สมาชิกทราบล่วงหน้าและมี
โอกาสเข้าประชุมได้ทัน
 

ข้อที่ 26  องค์ประชุมในการประชุมใหญ่

            ในการประชุมใหญ่ของสมาคมไม่ว่าจะเป็นการประชุมใหญ่สามัญประจำปีหรือการประชุมใหญ่
            วิสามัญก็ดี  จะต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม  ถ้านัด
ประชุมครั้งแรกมีสมาชิกไม่ครบองค์ประชุม ให้คณะกรรมการบริหารนัดประชุมใหญ่ภายใน
15 วัน  ในครั้งนี้จะมีสมาชิกมาประชุมมากน้อยเพียงใดก็ให้นับเป็นองค์ประชุมได้

ข้อที่ 27  มติของที่ประชุมใหญ่
มติของที่ประชุมให้ถือเอาเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ออกเสียงชี้ขาด
 

ข้อที่ 28  การบอกกล่าวนัดประชุมใหญ่

คณะกรรมการบริหารโดยเลขาธิการจะต้องกล่าวถึงวัน เวลา สถานที่ และระเบียบวาระของการประชุมใหญ่ให้สมาชิกทุกคนได้ทราบ ให้ใช้การส่งจดหมายทางไปรษณีย์ลงทะเบียน, ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อดิจิตอลอื่นๆ ณ ที่อยู่ของสมาชิกที่ปรากฏอยู่ในทะเบียนสมาชิก โดยคะเนว่าให้ถึงตัวสมาชิกก่อนวันประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่า 7 วัน  ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นให้ใช้วิธีอื่นตามข้อ 25.3 ด้วยก็ได้
 

ข้อที่ 29  ประธานในที่ประชุม

ให้นายกสมาคมเป็นประธานที่ประชุม  ถ้านายกไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้อุปนายกเป็นประธานในที่ประชุมแทน
ในกรณีที่อุปนายกไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งสมาชิกสามัญที่เห็นว่าเหมาะสมเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมใหญ่คราวนั้น
 

ข้อที่ 30  วิธีออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่

            การออกเสียงลงคะแนนให้ถือปฎิบัติดังนี้

       30.1 โดยวิธีเปิดเผย
       30.2 โดยวิธีลงคะแนนลับการจะใช้วิธีใดเป็นไปตามมติของที่ประชุมใหญ่
 

ข้อที่ 31  กิจการที่พึงกระทำในที่ประชุมใหญ่สามัญ

       31.1 รับรองรายงานการประชุมใหญ่คราวก่อน
       31.2 พิจารณารายงานกิจกรรมและผลงานประจำปีของสมาคม
       31.3 พิจารณางบดุล
       31.4 รับทราบการลาออกของกรรมการบริหารทั้งคณะตามวาระ
       31.5 เลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร
       31.6 แต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี
       31.7 พิจารณาเรื่องต่าง ๆ ซึ่งต้องการมติของที่ประชุมใหญ่ 



หมวดที่ 7

 

การเงินของสมาคม

 

ข้อที่ 32  รายได้ของสมาคม

       32.1 จากค่าบำรุงสมาชิกประจำปี
       32.2 จากการจัดงานต่าง ๆ หรือการกีฬา
       32.3 จากเงินอุดหนุนด้วยความสมัครใจจากสมาชิก หรือผู้อื่น หรือสถาบันอื่น   
       32.4 จากรายได้อื่น ๆ 

ข้อที่ 33  การเก็บรักษาและการสั่งจ่ายเงิน

       33.1 ให้เหรัญญิกมีหน้าที่รับผิดชอบในการทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย บัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตลอดจนบัญชีอื่น ๆ ที่จำเป็นและเก็บรักษาเอกสารใบสำคัญต่าง ๆ เกี่ยวกับการบัญชีไว้ให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบ และเป็นหลักฐานของสมาคมด้วย
       33.2 เงินสดของสมาคมถ้ามี ให้นำฝากธนาคารใดธนาคารหนึ่ง หรือสถาบันการเงินของรัฐบาล สุดแต่คณะกรรมการบริหารจะเห็นสมควร โดยเปิดบัญชีฝากไว้ในนามสมาคม
       33.4 การจ่ายเงินสำรองจ่าย ได้ครั้งละไม่เกิน 10,000 บาท โดยความเห็นชอบของนายก  และอุปนายก แต่ถ้าจ่ายเกินกว่าครั้งละ 10,000 บาท ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหาร
       35.5 เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดไว้เป็นเงินสำรองจ่ายได้ไม่เกิน 10,000 บาท       

ข้อที่ 34  การสั่งจ่ายเงิน

การสั่งจ่ายเงินจากธนาคาร ให้นายกหรืออุปนายก และ เหรัญญิกหรือเลขาธิการ เป็นผู้ลงนามสั่งจ่ายร่วมกัน

ข้อที่ 35  อำนาจในการสั่งจ่ายเงิน

ให้นายกหรืออุปนายกมีอำนาจอนุมัติการจัดซื้อ จัดหาหรือการจ้าง ฯลฯ สั่งจ่ายเงินได้ในวงเงินครั้งละไม่เกิน 10,000 บาท ถ้าเกินกว่าครั้งละ 10,000 บาท จะต้องเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการบริหาร
 

ข้อที่ 36  การก่อหนี้

กรรมการผู้ใดก่อหนี้ให้สมาคมโดยไม่ชอบด้วยข้อบังคับนี้ หรือไม่ชอบด้วยมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร จะต้องรับผิดชอบในหนี้สินเป็นการส่วนตัว
ข้อที่ 37  การลงนามในเอกสารที่ผูกพันทางการเงิน
ในการทำนิติกรรมใด ของสมาคม หรือการลงลายมือชื่อในเอกสารตราสาร และสรรพหนังสืออันเป็นหลักฐานของสมาคม และการอรรถคดีนั้นให้นายกหรืออุปนายก หรือกรรมการอื่นผู้รับมอบอำนาจ 2 คน ลงลายมือชื่อในนามของสมาคมได้
 

ข้อที่ 38  การจัดทำงบดุล

ให้คณะกรรมการบริหารจัดทำงบดุลปีละครั้งไม่เกินเดือนพฤษภาคมของทุกปี แล้วมอบให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบให้แล้วเสร็จก่อนวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี
 

ข้อที่ 39  ปีการบัญชี

            ให้ถือเอาวันที่ 31 เดือนมีนาคมของทุกปีเป็นวันสิ้นปีของทางการบัญชีของสมาคม
 

ข้อที่ 40  ให้คณะกรรมการบริหารส่งสำเนางบดุล

ซึ่งผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบแล้วและรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสมาคมในรอบปีไปยังสมาชิกก่อนวันประชุมใหญ่สามัญประจำปีไม่น้อยกว่า 7 วัน
 

ข้อที่ 41  อำนาจของผู้สอบบัญชี

ผู้สอบบัญชีมีอำนาจเข้าตรวจบัญชีและบรรดาเอกสารเกี่ยวกับการเงินของสมาคมและมีสิทธิ์สอบถามกรรมการตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสมาคมทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบัญชี และเอกสารเช่นว่านั้น 
 
หมวดที่ 8

การแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม

 

ข้อที่ 42  ข้อบังคับจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือเพิ่มเติม ก็แต่โดยมติของที่ประชุมใหญ่

ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม
 

ข้อที่ 43  การเลิกสมาคม

                สมาคมนี้อาจเลิกได้ด้วยเหตุดังต่อไปนี้
       43.1  เมื่อมีประชุมใหญ่ลงมติให้เลิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิก
        ทั้งหมด
       43.2  เมื่อล้มละลาย
       43.3  ศาลสั่งให้เลิก
       43.4  นายทะเบียนประจำกรุงเทพมหานคร ขีดชื่อออกจากทะเบียน
 
 
 
ข้อที่ 44  ถ้าสมาคมต้องสิ้นสุดลง
ให้ทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคมที่เหลืออยู่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสถาบันอื่น ตามที่ประชุมใหญ่จะเห็นสมควร
 

ข้อที่ 45  การชำระบัญชี

เมื่อสมาคมต้องเลิกไปด้วยเหตุหนึ่งตามข้อ 43 การชำระบัญชีของสมาคมให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 22 หมวด 5 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
หมวดที่ 9

บทเฉพาะกาล

 

ข้อ 46  เมื่อนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร อนุญาตให้จัดตั้งเป็นสมาคมได้แล้ว

ให้ผู้ขอจัดตั้งทำหน้าที่คณะกรรมการบริหารชั่วคราวของสมาคม จนกว่าจะได้มีการเลือกคณะกรรมการบริหารตามข้อบังคับ ซึ่งจะต้องจัดให้มีขึ้นภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสมาคม
 
ข้อที่ 47  ให้ใช้ข้อบังคับตั้งแต่วันที่นายทะเบียนสมาคมประจำกรุงเทพมหานครอนุญาตให้จัดตั้งเป็นสมาคมเป็นต้นไป
 
ข้อที่ 48  ให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะสมาคมใช้เป็นข้อบังคับในเมื่อ     ข้อบังคับของสมาคมนี้มิได้กำหนดไว้
 
ข้อ 49  เฉพาะในปีแรกหลังจากได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นสมาคมเป็นต้นไป  ให้สมาชิกชมรม เอ.บี.เค. แห่งประเทศไทย ซึ่งได้ลงทะเบียนและชำระค่าบำรุงประจำปีแล้วเป็นสมาชิกของสมาคมโดยอัตโนมัติ